วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ส.ค.ส. ทรงพระราชทาน

the new year card, 640 pixels, 186KB


         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี นอกจากนี้ ยังทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจ มาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่ แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร ทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า กส. 9 ปรุ ส.ค.ส. พระราชทาน ที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530
         เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2531  โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทาน แต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในปีต่อ ๆ มา หนังสือพิมพ์รายวัน ได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง
         นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น ก.ส. 9 ปรุง เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานในวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ของทุกปี ยกเว้น ปีในปี พ.ศ. 2548 เนื่องด้วยเหตุ ธรณีพิบัตภัยคลื่นสึนามิเข้าชายฝั่งทะเลอันดามัน จากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย
         โดยให้ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตนเข้าเฝ้าฯ เนื่องในวโรกาสพระราชทานพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ เมื่อเสร็จจากการบันทึกเทปแล้ว ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับตนว่า ปีใหม่ปีนี้ มิได้พระราชทาน ส.ค.ส. เนื่องจากทรงงานหนัก ในการให้ความช่วยเหลือพสกนิกร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว


นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ได้นำรับสั่งจากพระองค์ท่าน ความว่า


"ทรงปลื้มใจที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน เวลาเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกัน เป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เสมือนเป็นหลักประกันว่า เมื่อใดที่ทรงเดือดร้อน ก็จะมีคนช่วยเหลือพระองค์แน่นอน การให้การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ผลบุญก็จะสนองต่อผู้ปฏิบัติด้วย รับสั่งว่า ทรงปลื้มใจคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือทุกคน มิได้แบ่งแยกว่าเป็นคนชาติใด "
         อนึ่ง ส.ค.ส. พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี นอกจากนี้ คำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน ตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา จะมีข้อความ "พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher"(ใน ส.ค.ส. ปี 2549, 2551, 2552, 2553) และ "Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2550)


ส.ค.ส พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รวบรวมไว้ที่ http://www.nectec.or.th/users/htk/gr01/

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 โดยมีพิธีเปิดและแพร่สัญญาณ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ราวเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และราว พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้นทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด



         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 หรือ TTV (อังกฤษ: Thai Television Channel 4 ชื่อย่อ: ไทย ที.วี.) นับว่าเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม
         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดเห็นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และบรรดาข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ว่าต้องการที่จะให้ประเทศไทย มีการส่งโทรทัศน์ในประเทศขึ้น โดยมีข้าราชการของกรมฯรายหนึ่งคือ นายสรรพสิริ วิริยศิริ ข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ได้เขียนบทความลงในหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เผยแพร่เทคโนโลยีการสื่อสารชนิดใหม่ในขณะนั้น โดยเขียนชื่อหนังสือว่า วิทยุภาพ ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมา กลุ่มข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ไปศึกษางานด้านโทรทัศน์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2493 หลังจากกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ได้แสดงความคิดเห็นกับรัฐบาลเรื่องการจัดตั้งกิจการโทรทัศน์ไว้ว่า "ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมี TELEVISION" ผู้นำรัฐบาลจึงได้ให้ กรมประชาสัมพันธ์ จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ ต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2493 และต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและตั้งงบประมาณขึ้น ในปี พ.ศ. 2494 และในระหว่างเดือนกันยายน - พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เหล่าข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์รวมไปถึงบุคคลในคณะรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ได้จัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทย
         คณะผู้ก่อตั้งบริษัท มีอยู่ 7 คน ประกอบไปด้วย หลวงสารานุประพันธ์ , ขาบ กุญชร , ประสงค์ หงสนันทน์, เผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และ เลื่อน พงษ์โสภณ ก่อนการจัดตั้งบริษัทฯนั้น ได้มีการระดมทุนจาก กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 11 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐแห่งอีก จำนวน 8 แห่ง ถือหุ้นมูลค่า 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท
คณะผู้ปฏิบัติงานในยุคแรก ได้แก่
• นายจำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ
• นายอัมพร พจนพิสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายกำกับภาพ
• นายสมชาย มาลาเจริญ หัวหน้าฝ่ายช่างกล้อง
• นายธนะ นาคพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายควบคุมการออกอากาศ
• นายเกรียงไกร (สนั่น) ชีวะปรีชา หัวหน้าฝ่ายเครื่องส่ง
• นายธำรง วรสูตร และ นายฟู ชมชื่น หัวหน้าร่วม ฝ่ายเครื่องส่ง และ เสาอากาศ
• นายจ้าน ตัณฑโกศัย หัวหน้าฝ่ายกำกับเสียง
• นายสรรพสิริ วิริยศิริ หัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง และ หัวหน้าฝ่ายข่าว
• นายรักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช หัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องรับโทรทัศน์
        เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี เมื่ออาคารดังกล่าวสร้างเสร็จ และติดตั้งเครื่องส่งแล้ว จึงมีพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 เมื่อวันศุกร์ที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นวันชาติในสมัยนั้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ในช่วงแรกมีการแพร่ภาพออกอากาศในวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 18.30-23.00 น. ต่อมา จึงได้เพิ่มวันและเวลาออกอากาศมากขึ้นตามลำดับ โดยใช้เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที
 
เสาส่งช่อง 4 บางขุนพรหม

         เพลงเปิดการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลงต้นบรเทศ (ซึ่งปัจจุบันเป็นเพลง ต้นวรเชรฐ์ )ในวันออกอากาศวันแรก ได้ให้นางสาวอารีย์ นักดนตรี ผู้ประกาศ รำบรเทศออกอากาศสด ส่วนนางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ทำหน้าที่ผู้ประกาศแจ้งรายการ โดยผู้ประกาศในยุคแรกเป็นสตรี ได้แก่ นางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (ปัจจุบันคือ นางเย็นจิตต์ รพีพัฒน์ ณ อยุธยา), นางสาวอารีย์ นักดนตรี (ปัจจุบันคือ นางอารีย์ จันทร์เกษม), นางสาวดาเรศร์ ศาตะจันทร์, นางสาวนวลละออ ทองเนื้อดี (ปัจจุบันคือ นางนวลละออ เศวตโสภณ), นางสาวชะนะ สาตราภัย และ นางสาวประไพพัฒน์ นิรัตพันธ์ ส่วนผู้ประกาศข่าวเป็นชาย ได้แก่ นายสรรพสิริ วิรยศิริ, นายสมชาย มาลาเจริญ, นายอาคม มกรานนท์ และ นายบรรจบ จันทิมางกูร
ในช่วงจัดตั้งสถานี และ บริษัทฯนั้น รัฐบาลก็ได้พบอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากรัฐบาลไทยและกรมประชาสัมพันธ์ ถูกหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น เสียงกลุ่มคนในสภาผู้แทนราษฎร บางส่วนของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านได้โจมตีอย่างแรงอันเนื่องมาจากการจัดตั้งโทรทัศน์ โดยให้สาเหตุเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน แต่ก็สามารถรอดพ้นออกมาได้ หลังจากนั้น ก่อนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ บริษัทฯ ได้จัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เสียก่อน เพื่อระดมเงินทุนมาบริหารงานโทรทัศน์ และฝึกบุคลากรในบริษัทฯ พร้อมกับเตรียมงานด้านอื่นอีกด้วย และด้วยความที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ออกอากาศการเผยแพร่ผลงาน,การปราศรัยหาเสียงของรัฐบาล การประชุมสภา จนกระทั่ง การถ่ายทอดสด งานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. 2500 ทางโทรทัศน์เป็นฝ่ายเดียวนั้น ส่งผลทำให้สาเหตุดังกล่าว ที่ทำให้เกิดคู่แข่ง ระหว่างภาครัฐและภาคทหาร จึงทำให้กองทัพบก โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จัดตั้ง สถานีแห่งที่ 2 คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในระหว่างปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2501
         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร
         เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บจก.ไทยโทรทัศน์ ส่งผลให้การดำเนินงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2520 โดยให้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท.; M.C.O.T.) ให้เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือ ต่อสาธารณชน โดยรัฐบาลไทย มอบทุนประเดิมไว้ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท และให้รับโอนกิจการสื่อสารมวลชน ของ บจก.ไทยโทรทัศน์ ซึ่งประกอบด้วย สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. ทำให้สถานีโทรทัศน์เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยอัตโนมัติ


ที่มา : 

กังหันน้ำชัยพัฒนา

         กังหันชัยพัฒนา เป็น กังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชน
         ทำงานโดย การหมุนปั่น เพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสีย จากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจน ให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร
กังหันชัยพัฒนา เป็น เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (สามารถลอยขึ้นลงได้เองตามระดับน้ำ)

         ประกอบด้วยซองวิดน้ำ มีใบพัดที่ออกแบบเป็น ซองตักน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมูจำนวน 6 ซองแต่ละซองจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องเท่าๆ กัน ทั้งหมดถูกติดตั้งบนโครงเหล็ก 12 โครงใน 2 ด้าน
มีศูนย์กลางของกังหันที่เรียกว่า "เพลากังหัน" ซึ่งวางตัวอยู่บนตุ๊กตารองรับเพลา ที่ติดตั้งอยู่บนทุ่นลอย และมีระบบขับส่งกำลัง ด้วยเฟืองจานขนาดใหญ่ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2 แรงม้า สำหรับขับเคลื่อนซองน้ำ ให้หมุนรอบเป็นวงกลม อยู่บนโครงเหล็กที่ยึดทุ่นทั้ง 2 ด้านเข้าไว้ด้วยกัน
ด้านล่างของกังหันในส่วนที่จมน้ำ จะมีแผ่นไฮโดรฟอยล์ยึดปลายของทุ่นลอยด้านล่าง
ตามทฤษฎีเครื่องกลเติมอากาศ นับว่าการเติมอากาศหรือออกซิเจนเป็นหัวใจของระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะถ้ามีออกซิเจนอยู่มาก จุลินทรีย์ก็สามารถบำบัดน้ำได้ดี และบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น แต่ที่ความดันบรรยากาศซึ่งเป็นความดันที่ค่อนข้างต่ำ สำหรับออกซิเจนในการละลายน้ำ จึงต้องมีการเพิ่มพื้นที่สัมผัส ระหว่างอากาศกับน้ำให้ได้มากที่สุด


"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำเน่าเสีย"


         กังหันชัยพัฒนา เป็น กังหันน้ำที่มีโครงเป็นรูปเหลี่ยมบนทุ่นลอย และมีซองตักวิดน้ำซึ่งเจาะเป็นรูพรุน เราจึงเห็นสายน้ำพรั่งพรู จากซองวิดน้ำขณะที่กังหันหมุนวนเวียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ใช้หลักการวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายให้เป็นฝอยในอากาศ ทำให้น้ำสัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ปริมาณ ออกซิเจนในอากาศสามารถ ละลายผสมผสาน เข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทุกครั้งที่น้ำถูกตักขึ้นมา ออกซิเจนในอากาศจะละลายในน้ำได้ดีขึ้น เพราะพื้นที่ในการทำปฏิกิริยามีมากกว่าเดิม ทำให้น้ำเสีย ซึ่งเป็นปัญหาของแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ มีคุณภาพที่ดีขึ้น
การเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำจะช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพ ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และใช้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียน้อย และแหล่งน้ำเสียที่กระจายไปตามแหล่งต่างๆ จึงทำให้ยากแก่การรวบรวมน้ำเสีย เพื่อนำไปบำบัดในโรงบำบัดน้ำเสีย และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
การประยุกต์ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเติมอากาศให้กับน้ำหรือใช้เพื่อขับเคลื่อนน้ำได้ โดยการใช้งานทั้งในรูปแบบ ที่ติดตั้งอยู่กับที่ และใช้ในรูปแบบเคลื่อนที่ เพื่อเติมอากาศให้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือตามคลองส่งน้ำที่มีความยาวมาก ซึ่งดัดแปลงได้ด้วยการใช้พลังงาน จากเครื่องยนต์ของกังหัน



สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย
เป็นที่น่าปีติยินดีเป็นล้นพ้นแก่ปวงพสกนิกรไทยทั้งมวล เมื่อเครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์ด้วย จึงนับได้ว่าสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็น
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก”
ที่มา : 

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติความเป็นมาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

          จากประวัติความเป็นมาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยที่ได้มีผู้ศึกษาค้นคว้า รวบรวมไว้ดังปรากฏในหนังสือและเอกสารต่าง ๆ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรง ราชานุภาพ ได้ทรงเป็นผู้ริเริ่มและทรงนิพนธ์หนังสือ ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นหลักในการศึกษาจวบจนถึงปัจจุบันจึงพอจะพิจารณาได้ว่า มีการแบ่งยุคสมัยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยตามลักษณะและวิธีการประดับเป็นประโยชน์ในการศึกษาและทำให้ง่ายต่อการเข้าใจวิวัฒนาการของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยได้เป็นอย่างดี ในที่นี้จึงขอใช้แนวทางเดี่ยวกันและเพิ่มหลักพิจารณาตามประวัติการปรับปรุงแก้ไขในตัวบทกฎหมายครั้งสำคัญประกอบกันไปอีกประการหนึ่งโดยแบ่งยุคสมัยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยออกเป็น 3 สมัย คือ


1. สมัยก่อน พ.ศ. 2400
2. สมัยหลัง พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2484
3. สมัยหลัง พ.ศ. 2484 ถึงปัจจุบัน


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยสมัยก่อน พ.ศ. 2400
           นับเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ประเทศไทยด้มีเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบเรียกกันว่า เครื่องยศ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง ที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติพระราชภารกิจต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดหรือเมื่อกระทำความดีความชอบในทางราชการหรือส่วนพระองค์ เครื่องยศนี้จะเป็นสิ่งสำคัญแสดงตำแหน่งที่ลำดับยศศักดิ์ของบุคคลเหล่านั้นได้แก่ แหวน สังวาล ลูกประคำทอง พานหมากทองคำ กาน้ำ ทองคำ โต๊ะทองคำ ดาบฝักทอง ฉัตรเครื่องสูง ยานพาหนะ เครื่องนุ่งห่ม หมวก เป็นต้น ผู้ได้รับพระราชทานจะแต่งและนำเครื่องยศเข้าไปใช้ในงานสำคัญ ๆ ต่อหน้าพระที่นั่งได้ เช่น งานออกมหาสมาคม หรือที่โบราณเรียกว่าเสด็จออกใหญ่ ทั้งนี้ เครื่องแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบทั้งหลายดังกล่าวใช้สำหรับประดับกับตัวหรือนำพาไปเคียงข้างตัว ไม่ใช้ประดับกับเสื้ออย่างเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบที่เรียกว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์" ตามแบบอย่างของประเทศตะวันตก หรือในรูปแบบและวิธีการประดับดังที่ปรากฏในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวได้ว่าในบรรดาเครื่องยศเหล่านี้ซึ่งอย่างน้อยมีอยู่ 2 สิ่ง ได้แก่ สายพระสังวาล และแหวนทองคำเป็นต้นเค้าหรือหลักเกณฑ์ที่มาแห่งพัฒนาการของเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของพระมหากษัตริย์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้มีเครื่องราชูปโภคราชาภรณ์สำหรับพระพิชัยสงครามอย่างหนึ่ง เรียกว่า พระสังวาลพระนพเป็นสายพระสังวาล ใช้สวมเฉียงพระอังสาซ้ายหรือขวา มีลักษณะเป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทาองคำล้วนเรียงกัน 3 สาย สายหนึ่งยาวประมาณ 124 เซนติเมตร มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำประดับนพรัตนหนึ่งดอก เมื่อมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ์ พราหมณ์จะทูลเกล้าฯ ถวายพระสังวาลนี้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงสวมพระองค์ก่อน ที่จะทรงรับเครื่องราชอิสริยยศอื่น ๆ เป็นราชประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ขึ้นอีกสายหนึ่ง เพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์
กล่าวโดยสรุป ต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอาจนับเนื่องได้ว่ามีเค้าที่มาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือพระสังวาลพระนพ พระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และแวนทองคำประดับพลอย 9 ชนิด นับเป็นเครื่องหมายที่ใช้สำหรับประดับเกียรติยศแต่ครั้งโบราณโดยใช้ประดับกับตัวทั้งสิ้น


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยสมัยหลัง พ.ศ. 2400 ถึง พ.ศ. 2484


รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2411)
ทรงมีพระราชดำริสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในรูปลักษณะและวิธีการประดับแบบของยุโรปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 โดยลำดับประวัติความเป็นมาดังนี้
พ.ศ. 2400 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ดาราไอราพตเครื่องต้น และดาราตราตำแหน่ง ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อทำด้วยทองคำจำหลักลงยาราชาวดี ประดับเพชรพลอย โดยทรงพระราชดำรินำดวงตราตำแหน่งมาทำลายดารา ในเวลานั้นจึงมักเรียกกันว่า "ตรา" บ้าง หรือเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "เดคอเรแชน" (Decoration)
สรุปความสำคัญได้ว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 ได้ทรงเพิ่มเครื่องประดับสำหรับยศ มาเป็นดาราตราตำแหน่งสำหรับประดับกับเสื้อ นับเป็นการพัฒนาในรูปแบบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยได้โดยชัดแจ้ง
พ.ศ. 2401 - พ.ศ. 2402 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดารานพรัตนสำหรับเป็นเครื่องต้น 1 ดวง และพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์อีก 3 ดวง
พ.ศ. 2404 ทรงสร้างดราราช้างเผือกสำหรับพระราชทานผู้มียศต่าง ๆ ซึ่งเป็นคนไทยและชาวต่างประเทศที่มีความชอบ และดาราพระมหามงกุฎฝ่ายในสำหรับพระราชทานเจ้าจอมซึ่งแต่งตัวเป็นมหาดเล็กตามเสด็จฯ
พ.ศ. 2407 หลังจากที่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้ทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชื่อ ลีจอง ดอนเนอร์ (Legion d' Honneur) ชั้นแกรนครอส (Grand Cross) ประกอบด้วยสายสะพาย ดวงตรา และดารา มาถวายเป็นการเจริญพระราชไมตรี เมื่อจุลศักราช 1225 (พ.ศ. 2406) แล้ว จึงทรงสร้างดารานพรัตนมีลักษณะคล้ายกับดารานพรัตนเครื่องต้น มีขนาดใหญ่กว่า สำหรับถวายพระเจ้า นโปเลียนที่ 3 เป็นการตอบแทน เมื่อจุลศักราช 1266 (พ.ศ. 2407)
อนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับเครื่องผลิตเหรียญแบบฝรั่งเศสขนาดเล็ก ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียทรงส่งมาถวาย และได้ทรงสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อผลิตเหรียญแทนเงินพดด้วง ที่ใช้อยู่ขณะนั้น เมื่อมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมายุครบ 60 พรรษาบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2407 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นในพระราช วโรกาสดังกล่าว เรียกว่า "เหรียญเฉลิมพระชันษาครบ 60 ปีบริบูรณ์" ราษฎรทั่วไปมักเรียกกันด้วยภาษาจีนว่า "เหรียญแต้เม้ง" เป็นเหรียญตราพระมหามงกุฎมี 2 ชนิด ทำด้วยทองคำและทำด้วยเงิน พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำเป็นเครื่องประดับติดเสื้อได้ตามอัธยาศัย ซึ่งบ้างก็ทำแพรแถบห้อยเหรียญติดเสื้อแบบฝรั่ง บ้างก็ทำสายไหมห้อยเหรียญแขวนคอแบบจีน และโปรดเกล้าฯ ให้ประดับได้อย่างเหรียญตรา
เหรียญเฉลิมพระชันษาครบ 60 พรรษาบริบูรณ์
ด้านหน้า เป็นรูปพระมหามงกุฎยอดเปล่งรัศมี มีฉัตรพระหนาบสองข้าง พื้นเป็นลายกิ่งไม้
มีดาวบอกราคาอยู่ริมขอบ 32 ดวง โดยดาวดวงหนึ่งแทนราคา 1 เฟื้อง รอบวง
ขอบมีลายเกสรดอกไม้สองชั้น
ด้านหลัง เป็นลายแก้วชิงดวง มีคำว่า "กรุงสยาม" อยู่กลาง นอกลายมีอักษรจีนสี่ทิศ อ่าน
สำเนียงจีนแต้จิ


loading picture   loading picture
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453)
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ปรับปรุง และเพิ่มเติมดารา ตราตำแหน่ง และเครื่องประดับสำหรับยศ ซึ่งให้เรียกว่า “เครื่องราชอิสริยยศ” และในที่สุดเปลี่ยนเรียกว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” มาจนปัจจุบันนี้
พ.ศ. 2411 หลังจากเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างดาราตราตำแหน่งขึ้นสำหรับพระราชทานปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่ข้าราชการตามราชประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่มีจำนวน 4 ดวง ล้วนประดับเพชรพลอยอย่างมีค่ายิ่ง และเปลี่ยนรูปแฉกดาราจากที่เป็นรัศมีมาเป็นกลีบบัว ซึ่งได้ใช้เป็นแบบกันต่อมาจนปัจจุบัน
พ.ศ. 2412 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก คือ สายสะพายสำหรับเครื่องราชอิสริยยศสำหรับราชตระกูล นพรัตนราชวราภรณ์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “ระเบียบเครื่องราชอิสริยยศสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยแบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. เครื่องราชอิสริยยศสำหรับราชตระกูล ได้แก่ นพรัตนราชวราภรณ์
2. เครื่องราชอิสริยยศสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน มี 6 ชนิด ได้แก่ มหาวราภรณ์ มหาสุราภรณ์ จุลวราภรณ์ จุลสุราภรณ์ นิภาภรณ์ และภูษนาภรณ์
3. เครื่องราชอิสริยยศสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์และทำการช่างฝีมือดี มี 3 ชนิด ได้แก่รจนาภรณ์ ภัทราภรณ์ และเหรียญบุษปมาลา
4. เครื่องราชอิสริยยศสำหรับพระราชทานฝ่ายทหาร ได้แก่ เหรียญจักรมาลา
พ.ศ. 2416 ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยายศจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล เนื่องในวโรกาสที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 โดยทรงบรรลุนิติภาวะและไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตราความชอบ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม เหรียญจักรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ และเหรียญบุษปมาลารวมกัน
ตาม “ประกาศตราความชอบ” ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญดังกล่าว จะได้รับประกาศนียบัตรซึ่งเวลานั้นเรียกว่า “หนังสือสำคัญสำหรับดวงตรา” “คำประกาศสำหรับดวงตา” ประทับพระราชลัญจกรเป็นสำคัญด้วย การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยาม จะพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ต้องส่งคืน อีกทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดลำดับเกียรติของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยาม ชั้นที่ 1 ถึง ชั้นที่ 5 สลับกันไป และให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสองตระกูลนี้ด้วยกันได้
หลังจากที่ได้ทรงแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และทรงตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2516 นี้แล้ว นับตั้งแต่นั้นมา เมื่อทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นใหม่ หรือมีการแก้ไขอย่างใด ก็จะมีพระราชบัญญัติหรือประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นประเพณีสืบมา
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เหรียญรจนาภรณ์ ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2412 สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์ ให้ชื่อว่า เหรียญรัตนาภรณ์
พ.ศ. 2424 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญสตพรรษมาลา
พ.ศ. 2425 ทรงสถาปนาเครื่องขัตติยราชอิสริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
พ.ศ. 2427 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญปราบฮ่อ
พ.ศ. 2429 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยยศสำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไขเพิ่มเติม รัตน- โกสินทรศก 108 (พ.ศ. 2432)” เปลี่ยนการเรียกตราต่าง ๆ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า “เครื่องราชอิสริยยศ” เป็น “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” และให้เรียก “หนังสือสำคัญสำหรับดวงตรา” หรือ “คำประกาศสำหรับดวงตรา” ว่า “ประกาศนียบัตร”
โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัตินามเจ้าพนักงานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเดิมใช้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงดวงตราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกบางชั้น
โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดให้มีการส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยาม เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นสูงขึ้นหรือวายชนม์ ซึ่งเดิมพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์
พ.ศ. 2434 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าเพิ่มเติม
พ.ศ. 2436 ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่าง ๆ อันได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม เหรียญจักรมาลา เหรียญบุษปมาลา และเหรียญรัตนาภรณ์ ยังกระจัดกระจายปะปนกันอยู่กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อจะให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละตระกูลมีเกียรติคุณพิเศษยิ่งขึ้นในกาลอันเป็นมหามงคลที่เสด็จถลิงถวัลยราชสมบัติมาครบ 25 ปี ใน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละตระกูลเหล่านั้น ให้เป็นหมวดหมู่ และแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วตราเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะแต่ละตระกูล
พ.ศ. 2438 ทรงสถาปนาเหรียญจักรพรรดิมาลา
โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ว่าด้วยสายสร้อยฯ)
โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2439 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก้ไขบางมาตราในพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
พ.ศ. 2440 ทรงสถาปนาเหรียญราชรุจิรัชกาลที่ 5
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญประพาสมาลา
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงสถาปนาเหรียญราชินีขึ้นโดยพระบรมราชานุญาต
พ.ศ. 2442 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2443 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 โดยใช้อักษาพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. แทนเหรียญรัตนาภรณ์เดิม (พ.ศ. 2416) ซึ่งเป็นรูปจุลมงกุฎ
พ.ศ. 2445 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ขึ้นอีก 2 ชั้น คือเหรียญทองและเหรียญเงิน โดยตรา “พระราชบัญญัติสำหรับเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยามรัตนโก สินทรศก 121 (พ.ศ. 2445)” ขึ้น
พ.ศ. 2446 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญทวีธาภิเศก
พ.ศ. 2447 ทรงสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ในวโรกาสครบ 100 ปี วันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลา
พ.ศ. 2450 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัชมงคล
พ.ศ. 2451 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัชมังคลาภิเศก
พ.ศ. 2452 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกขึ้นใหม่โดยทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ขึ้นอีก 1 ชั้น คือ ชั้นสูงสุด “มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก” และแก้ไขเปลี่ยนรูปและลายตราช้างเผือกเป็นอย่างปัจจุบัน
โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามขึ้นใหม่ โดยมีการรวบรวมกำหนดชั้นเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญมงกุฎสยาม เป็น 7 ชั้น แก้ไขรูปและลายตรามงกุฎสยามเป็นอย่างปัจจุบัน
ตามพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นใหม่ดังกล่าว ได้มีการจัดลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม และเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดพระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์เพิ่มเติม
โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเพิ่มเติม


รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453 – พ.ศ. 2468)
           ได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพร๊และวัฒนธรรมของบ้านเมืองไทยหลายสิ่งหลายประการ โดยเฉพาะในด้านศิลปะการช่างแขนงต่าง ๆ ก็ได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทำนุบำรุง อนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่ ตลอดจนทรงให้การอุปถัมภร์สนับสนุนศิลปินอย่างดียิ่งสำหรับเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการพระราชทานเครื่งอราชอิสริยาภรณ์ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรม ประเพณีประจำสังคมไทยอย่างหนึ่ง จะเห็นได้ว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบประดิษฐ์ขึ้นอย่างงดงาม ตลอดจนปรับปรุงอัตราจำนวนของแต่ละตระกูหรือแต่ชะชนิดให้เพียงพอแก่การพระราชทาน ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชบริพารและข้าราชการ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทาน เป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ ขึ้นอีกประเภทหนึ่ง และเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นพิเศษในราชการทหารอีกตระกูลหนึ่งคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
พ.ศ. 2453 ทรงสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6
พ.ศ. 2454 ทรงสถาปนาเหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6
ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราวชิรมาลา
ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรารัตนวราภรณ์ (ครั้งที่ 1)
ทรงสถาปนาเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 6
โปรดเกล้าฯ ประกาศแก้คำในพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและแก้ไขพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา
โปรดเกล้าฯ แก้พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก เปลี่ยนสีริ้วสายสะพายชั้นมหาปรมาภรณ์
พ.ศ. 2455 ทรงสถาปนาเหรียญราชนิยม
โปรดเกล้าฯ แก้ไข เพิ่มเติมจำนวนอัตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอลเกล้าทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนอัตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
พ.ศ. 2457 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเพิ่มเติมเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า
พ.ศ. 2459 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเพิ่มเติมเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน
พ.ศ. 2460 โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรารัตนวราภรณ์
(ครั้งที่ 2)
พ.ศ. 2461 ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราวัลลภาภรณ์
ทรงสถาปนาเหรียญงานพระราชสงครามทวีปยุโรป และเหรียญนารายณ์บันฤาชัย
โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรารัตนวราภรณ์
(ครั้งที่ 3)
โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามเพิ่เติม ทรงสถาปนาชั้นสูงสุดชื่อ มหาวชิรมงกุฎ และเปลี่ยนชื่อชั้นอื่นรองงมาเป็นอย่างใหม่
พ.ศ. 2463 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราวัลลภาภรณ์
พ.ศ. 2465 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรารัตนวราภรณ์ฝ่ายใน
พ.ศ. 2466 โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศการประดับสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณืช้างเผือกกับเครื่องราชอิสริยาภรณืมหาวชิรมงกุฎ โดยให้สะพายบ่าซ้ายเฉียงขวา
พ.ศ. 2468 ทรงสถาปนาเหรียญศารทูลมาลา


รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468 – พ.ศ. 2477)


พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเพียง 9 ปี และได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงภายในประเทศครั้งสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศครั้งสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณราญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ได้มีการทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ นอกจากการสร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ประจำรัชกาล และเหรียญที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์
พ.ศ. 2468 ทรงสถาปนาเหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7
พ.ศ. 2469 ทรงสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7
พ.ศ. 2470 ทรงสถาปนาเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 7
พ.ศ. 2475 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี
พ.ศ. 2476 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยสมัยหลัง พ.ศ. 2476 จนถึงปัจจุบัน
          ประวัติความเป็นมาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยสมัยหลัง พ.ศ. 2476 ถึงปัจจุบัน อยู่ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2489) และตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489 – ปัจจุบัน) กล่าวได้ว่าเป็นยุคใหม่ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ซึ่งมีการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาทั้งด้านชื่อ รูปลักษณ์ จำนวนอัตรา วิธีการประดับ หลักเกณฑ์พระราชทาน การเรียกคืนการส่งคืน ตลอดจนการปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายต่าง ๆ ที่กี่ยวข้องให้เหมาะสมกับยุคสมัยของบ้านเมืองและสอดคล้องกับหลักสากลของประเทศตะวันตกเป็นสำคัญ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันงดงามด้วยศิลปะของไทยที่มีพัฒนาการมาแต่อดีตกาลอันยาวนาน


รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล (พ.ศ. 2477 – พ.ศ. 2489)
          แม้มีการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงรัชกาลอันสั้น แต่ก็ได้มีการปรับปรุงเครื่องราชอิสริยาภรณ์และกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยตระกูลที่สำคัญ ๆ ครั้งใหญ่ ซึ่งยังปรากฎและมีผลบังคับใช้ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
พ.ศ. 2480 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 8 โดยตราพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 พุทธศักราช 2480
พ.ศ. 2484 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเหรียญกล้าหาญ เหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญช่วยราชการเขตภายใน โดยตราพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดเกี่ยวกับเหรียญเหล่านี้ตามลำดับ
โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูล สำคัญ ๆ ได้แก่ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เหรียญจักรมาลา เหรียญจักรพรรดิมาลา และเหรียญราชนิยม


รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489 – ปัจจุบัน)
          รัชกาลที่ 9 แห่งพระรบรมราชจักรีวงศ์ ทรงครองราชย์ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด ได้มีการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญที่ระลึกในวโรกาสและโอกาสต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งไดมีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหล่านั้น ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวางจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ขึ้นไว้สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐต่างประเทศโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก ชื่อ “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์” สำหรับผู้ที่มิใช่ข้าราชการประจำและบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและสังคม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์” ขึ้นอีกตระกูลหนึ่ง

ที่มา http://dop.rta.mi.th/Option.html

พระราชบัญญัติขนานนามสกุล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติขนานนามสกุล" เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ 

แต่ได้เลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปอีก ๒ คราว เป็นวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ และบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ 

นามสกุลที่ได้รับพระราชทานครั้งแรก ๕ สกุล คือ 

๑) สุขุม พระราชทาน เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล 
๒) มาลากุล พระราชทาน พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) เสนาบดีกระทรวง
ธรรมการ กับ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ต่อมาได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมาธิการณาธิบดี) เสนาบดีกระทรวงวัง
๓) พึ่งบุญ พระราชทาน พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ) จางวางมหาดเล็กห้อง พระบรรทม
๔) ณ มหาไชย พระราชทาน พระยาเทพทวาราวดี (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบำเรอบริรักษ์) อธิบดีกรมมหาดเล็ก 
๕) ไกรฤกษ์ พระราชทาน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีกรมชาวที่ และ พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิธร) กรรมการศาลฎีกา 
นามสกุลสุดท้ายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คือ ตันตริยานนท์ พระราชทานแก่ นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวรกรมบาญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ปู่ชื่อตันก๊กเหลียง บิดาชื่อตันเต็งหยง เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ 
นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น ๖๔๖๔ นามสกุล แยกเป็นนามสกุลตามสมุดทะเบียน ๖๔๓๙ นามสกุล 
(ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง ๖๔๓๒ นามสกุล) 
นามสกุลพิเศษ ๑ นามสกุล 
และนามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ ๔ อีก ๒๔ นามสกุล 
นามสกุลพิเศษที่มิได้ลงลำดับที่ในสมุดทะเบียนนามสกุลคือ ณ พิศณุโลก พระราชทาน หม่อมคัธริน ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ 
ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับพระราชทานนามสกุลคือ เด็กชายบัว อายุ ๖ ขวบ มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ศจิเสวี เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ 

นามสกุลที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ 
เศียนเสวี พระราชทาน พระอักษรสมบูรณ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) เสมียนตรากระทรวงวัง 
และนายพันตรีในกองทัพบก บิดาเป็นชาวเยอรมัน นาม
สกุลเดิมว่า "Falck" คือมุ่งว่า "falk" แปลว่าเหยี่ยว แปล
กลับเป็นสังสกฤตว่า "เศ์ยน" แผลงเป็นไทยว่า "เศียน" 
เศวตศิลา พระราชทาน พระวันพฤกษ์พิจารณ (ทองคำ) ปลัดกรมป่าไม้ กับพระกรุงศรีบริรักษ์ (ทองย้อย) ปลัดมณฑลกรุงเก่า* กระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรนายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (แปลนามสกุลเป็น "หินขาว") 
สุมิตร พระราชทาน นายอี สเปนช์ สมิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ขอ
พระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นไทย
เวลานนท์ พระราชทาน รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์ นายตรวจเอก กรมรถไฟหลวงสายเหนือ 
(ต่อมาถูกถอนสัญชาติและเรียกคืนนามสกุล เมื่อคราวประเทศสยาประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑) 
อันตรนิยุกต์ พระราชทาน ขุนทิพรศโอชา* (ปีเตอร์) พนักงานครัวเฃ้าต้น กรมมหาดเล็ก นามสกุลเดิม "อันโตนิโอ" 
สีมันตร พระราชทาน ขุนเลขการวิจิตร (แสวง) นายเวรกรมที่ปฤกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า "ซีโมเอนส์" 
เตชะวณิช พระราชทาน พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง) สังกัดกรมมหาดเล็ก แส้แต้ 
อับดุลพันธุ์ พระราชทาน นายหมู่ตรีปุ๋ย ประจำแพนกเกียกกาย กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ปู่ทวดชื่อเฮเดอรใบ ปู่ชื่อเมียโบ บิดาชื่ออับดุลโคยุม
อับดุลละบุตร พระราชทาน พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสงคราม (นิโอ๊ะ) พระยาเมืองยะหริ่ง ปู่ทวดชื่ออับดุลเลาะ 
คุณะดิลก พระราชทาน พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด) อธิบดีกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่
ต้องการได้รับมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า"คุณะดิลก"เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า"คุณะติละกะ" (ตัวโรมัน"Guna Tilleke") 
สิงหลกะ พระราชทาน พระดรุณรักษา* (เสงี่ยม) ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก หลานพระอุดรพิศดาร (สิญญ) ซึ่งเป็นชาวสิงหล 

นามสกุลแยกตามรายอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล 
สกุลพ่อค้า มีคำว่า วณิช หรือวานิช และ เวส ประกอบในนามสกุลเช่น กมุทวณิช, กัณหะเวส, คุปตะวานิช ฯลฯ 
สกุลชาวสวน มีคำว่า ผล และ ผลิน ประกอบในนามสกุล เช่น ผลพันธิน, ผลาชีวะ, มณฑลผลิน 
สกุลชาวนา มีคำว่า กสิกร, เกษตริน และศาลิ ประกอบในนามสกุล เช่น โพธิกสิกร, รัตกสิกร, สนธิเกษตริน, พฤทธิศาลิกร, ศาลิคุปต์ 
สกุลทหารบก มีคำว่า โยธิน ประกอบในนามสกุล เช่น พหลโยธิน, พินทุโยธิน, อุตตมะโยธิน 
สกุลทหารเรือ มีคำว่า นาวิน และกลิน ประกอบในนามสกุล เช่น กนกนาวิน, 
โรหิตนาวิน, ไอศะนาวิน, กฤษณกลิน, สุนทรกลิน 
สกุลช่างสิบหมู่ มีคำว่า ศิลปิน ประกอบในนามสกุล เช่น เกียรติศิลปิน, เตมียศิลปิน, วิภาตะศิลปิน 
ศิลปินโขน มีคำว่า นัฏ ประกอบในนามสกุล เช่น กานตะนัฎ, จารุนัฎ, สมรรคนัฎ 
นักดนตรี มีคำว่า วาทิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลวาทิน, วรวาทิน, สุนทรวาทิน
กรมพระอัศวราช มีคำว่า ประกอบในนามสกุล เช่น ศวิน โกมลาศวิน, ชยาศวิน, มณฑาศวิน 
สกุลแพทย์ มีคำว่า เวช, ไวทยะ, แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, ไวทยะชีวิน, ตีรแพทย์, มิลินทแพทย์ 
โหรหลวง มีคำว่า โชติ ประกอบในนามสกุล เช่น โชติวิท, เศษโชติ, สุนทรโชติ
พรามหมณ์ มีคำว่า พราหมณ ประกอบในนามสกุล เช่น จุลละพราหมณ์, พราหมณายน, วินทุพราหมณกุล 


มีนักเรียนที่ได้รับพระราชทานนามสกุล รวม ๒๗๘ นามสกุล แยกเป็น
นักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา คือ 
นักเรียนมหาดเล็กหลวง และนักเรียนราชวิทยาลัย จำนวน ๔๕ นามสกุล
นักเรียนทหารกระบี่หลวง หรือนักเรียนพรานหลวง จำนวน ๙๗ คน
นักเรียนระดับชั้น อุดมศึกษา คือ นักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง จำนวน ๘๘ นามสกุล
นักเรียนนายร้อย, นักเรียนทำการนายร้อย และนักเรียนทำการนายร้อยตำรวจ จำนวน ๒๒ นามสกุล
นักเรียนนายเรือ และนักเรียนทำการนายเรือ จำนวน ๑๑ นามสกุล
นักเรียนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑๓ นามสกุล
นักเรียนราชแพทยาลัย จำนวน ๒ นามสกุล 
นามสกุลที่เนื่องมาแต่ราชสกุลที่โปรดให้เติม ณ กรุงเทพ หรือที่ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายนั้น มีทั้งสิ้น ๑๐๕ นามสกุล
สมาชิกกองเสือป่าที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมีทั้งสิ้น ๘๖๔ นามสกุล ในจำนวนนี้เป็น พลเสือป่าถึง ๕๑๕ นามสกุล
นายทหารที่ได้รับพระราชทานนามสกุล มีทั้งสิ้น ๑๑๓๔ นามสกุล
นายตำรวจที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมี ทั้งสิ้น ๔๕๗ นามสกุล


ที่มา http://www.bloggang.com/

พระบรมราโชบายขนานนามสกุล

โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
ฉบับที่ 2591 ปีที่ 50 ประจำวัน อังคาร ที่ 15 มิถุนายน 2547

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖


          ในภาพ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อโปรดเกล้าฯทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสด้วยพระนางเจ้าฯ แต่ยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา
มีพระบรมราโชบายในการขนานนามสกุลหลายข้อ ข้อที่เกี่ยวกับเกณฑ์ภูมิลำเนานั้น มีว่า
“๔. (ก.) เกณฑ์ภูมิลำเนา คือ (ตั้ง) ตามนามตำบลที่อยู่ เช่น ‘สามเสน’ ‘บางขุนพรหม’ ‘บางกระบือ’ แต่ห้ามมิให้มี ‘ณ” อยู่ข้างหน้านามตำบล เพราะ ณ จะมีได้แต่ที่พระราชทานเท่านั้น”
แต่เมื่อเป็นเพียงประกาศพระบรมราโชบาย มิใช่พระบรมราชโองการ และมิได้ตราเป็นพระราชบัญญัติจึงปรากฎว่า ยังมีผู้ใช้ ‘ณ’ นำนามสกุลอยู่
          ใน พ.ศ.๒๔๕๘ จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระบรมราชโองการว่า
“ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๘ สั่งว่า ห้ามมิให้ใช้ ‘ณ’ นำหน้านามสกุล ผู้ใดใช้ไปก่อนประกาศนี้ให้ถอน ‘ณ’ ออกเสีย ถ้าผู้ใดมีความประสงค์จะใช้ให้นำเรื่องราวขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน”
          ทั้งนี้เพราะคำว่า ‘ณ’ สำหรับโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เฉพาะสกุลที่สืบเชื้อสายลงมาจาก เจ้าผู้ครองนคร หรือผู้ว่าราชการเมือง (ก่อนเรียกกันว่าจังหวัด) เท่านั้น
          แม้ในปัจจุบันจะใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งตราขึ้นในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกเลิก พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖ ทว่าพระบรมราชโองการประกาศ เกี่ยวกับคำว่า ‘ณ’ คงจะยังถือปฏิบัติกันอยู่ จึงมิได้มีผู้ใดขอตั้งนามสกุลอันขึ้นต้นด้วยคำ ‘ณ’
          ไหนๆก็ถามมาแล้ว จึงได้คุ้นนามสกุลพระราชทานที่ขึ้นต้นว่า ‘ณ’ ทั้งเหตุผลที่โปรดฯ พระราชทานแก่ผู้ขอด้วย
นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ ขึ้นต้นว่า ‘ณ’ หน้าชื่อเมืองมี ๒๑ นามสกุล
๑. ณ กาฬสินธุ์ พระราชทาน พระยาไชยสุนทร (เก) ทวดและปู่เป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เชื้อสายเจ้าเมืองกาฬสินธุ์มาแต่ก่อน
๒. ณ จัมปาศักดิ์ พระราชทานเจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบงคำ) เจ้าศักดิ์ประเสริฐ์ (เจ้าอุย) บุตรชายเจ้านครจัมปาศักดิ์ ซึ่งเข้ามารับราชการในเมืองไทย ไม่ยอมอยู่ในบังคับฝรั่งเศส
๓. ณ เชียงใหม่ พระราชทานเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่
๔. ณ ตะกั่วทุ่ง พระราชทาน พระราชภักดี (หร่าย) ยกระบัตรมณฑลปัตตานี ทวดและปู่เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง
๕. ณ ถลาง พระราชทานพระยา ๓ ท่าน ซึ่งร่วมทวดเดียวกัน ทวดเป็นพระยาถลาง
๖. ณ นคร พระราชทาน เชื้อสาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่ว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๗. ณ น่าน พระราชทาน ผู้สืบสกุลจากพระเจ้าสุริยพงษผริตเดช พระเจ้าน่าน
๘. ณ บางช้าง พระราชทานสำหรับพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นราชินิกุลในรัชกาลที่ ๒
๙. ณ ป้อมเพ็ชร์ สกุลนี้เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ป้อมเพชรกรุงเก่า มีชื่อเสียงอยู่ในกรุงเก่า
๑๐. ณ พัทลุง พระราชทานผู้สืบสายจากเจ้าเมืองพัทลุง สายสุลต่านสุลัยมาน ผู้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงมาหลายชั้น ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
๑๑. ณ พิศณุโลก พระราชทานหม่อมคัทริน ใน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก่อนพระราชทานนามสกุล ‘จักรพงศ์’ในรัชกาลที่ ๗
มีผู้ใช้นามสกุลนี้เพียงท่านเดียว คือ หม่อมคัทริน
๑๒. ณ มโนรม ทวดและปู่ของผู้ขอพระราชทาน เป็นผู้ว่าราชการเมืองมโนรม
๑๓. ณ มหาไชย พระราชทานพระยาเทพทวาราวดี (สาย) อธิบดีกรมมหาดเล็ก ข้าหลวงเดิม และเคยเป็นเจ้ากรมเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระอิสริยยศ เป็นกรมขุนเทพทวาราวดี พระยาเทพฯ มีภูมิลำเนาอยู่ตำบลมหาไชย
๑๔. ณ ระนอง พระราชทานแก่ผู้สืบเชื้อสายพระยาระนองคนแรก คือพระยาดำรงมหิศร์ภักดี (คอซู้เจียง)
๑๕. ณ ร้อยเอ็จ พระราชทานแก่พระยาขัติยะวงศา (หลา) ผู้ว่าราชการเมืองเมืองร้อยเอ็จ ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองร้อยเอ็จมาแต่ครั้งทวด ปู่ และบิดา
๑๖. ณ ลำปาง พระราชทานผู้สืบเชื้อสายเจ้านครลำปาง (เจ้าเจ็ดตน)
๑๗. ณ ลำพูน พระราชทานผู้สืบเชื้อสายเจ้านครลำพูน (เจ้าเจ็ดตน)
๑๘. ณ วิเชียร ปู่และบิดาเคยเป็นผู้ว่าราชการเมืองวิเชียรบุรีในจังหวัดเพชรบูรณ์
๑๙. ณ สงขลา พระราชทานผู้สืบสกุล เจ้าพระยาสงขลา
๒๐. ณ หนองคาย พระราชทานผู้สืบสายเจ้าเมืองนครหนองคายมาแต่ปู่และบิดา
๒๑. ณ อุบล พระราชทานพระอุบลประชารักษ์ (เสือ) ทวดเป็นพระประทุมวงศา (คำผา) เจ้าเมืองอุบลคนแรก
นอกจากนามสกุล ‘ณ’ โดยตรงแล้ว ยังมีอีก ๗ สกุล ที่โปรดฯให้ใช้ ‘ณ’ ต่อท้ายนามสกุลที่แยกออกจาก ‘ณ’ เดิม คือ
๑. โกมารกุล ณ นคร
๒. ประทีป ณ ถลาง
๓. สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง
และอีก ๕ นามสกุลที่โปรดฯให้ใช้ ‘ณ’ ตามหลังนามสกุล คือ
๑. พรหมสาขา ณ กลนคร พระราชทานให้พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เชื้อสายเจ้านครสกลนครมาแต่ครั้งทวด (พระบรมราชา)
๒. ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เชื้อสายเจ้าเมืองมหาสารคามมาแต่ทวด เจ้าราชวงศ์ (หล้า)
๓. รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เชื้อสายพระภูเก็ตโลหเกษตรรักษ์
๔. สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แยกจาก ณ พัทลุง โปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า สุคนธาภิรมย์ เพราะผู้ขอพระราชทานมีปู่ชื่อกลิ่น บิดาชื่อชม
๕. สุนทรกุล ณ ชลบุรี นามสกุลนี้พิเศษกว่า ‘ณ’ อื่นๆ ด้วยเป็นนามสกุลสืบทอดมาจาก ‘เจ้า’ ผู้ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นจากสามัญชน ที่มิได้มีเชื่อสายเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวดองกับพระบรมราชจักรีวงศ์ เจ้านามพระองค์นี้ คือ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระนามเดิมว่า ‘เรือง’ หรือ ‘จีนเรือง’ เป็นชาวเมืองชลบุรี เป็นผู้มีอุปการคุณแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเสด็จยกทัพไปตีจันทบุรี จีนเรืองรักใคร่ชอบพอกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมาก ถึงแก่ได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จปราบดาภิเษก จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น เจ้า ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระอนุชาธิราช พระราชทานให้สร้างวังอยู่ปากคลองวัดชนะสงคราม (หรือปากคลองโรงไหม) ตรงข้ามวังหน้า ถึงรัชกาลที่ ๓ พระราชทานให้เป็นวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์
          กรมขุนสุนทรภูเบศร์ นี้ได้เป็นเจ้าแต่เฉพาะองค์เดียว ลูกมิได้เป็นเจ้าด้วย ทว่าผู้ขอพระราชทานนามสกุล จดไว้ว่า ‘หม่อมหลวงจาบ’ เห็นทีพวกลูกหลานคงเรียกกันว่า ‘หม่อม’ ตามที่เรียกยกย่องพวกผู้ดีมีสกุลมาแต่ครั้งอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔-๕ จึงโปรดฯให้เป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ด้วยถือว่าเป็นแต่ราชนิกุล ไม่ใช่เจ้า
          ยังมี นามสกุล ‘ณ’ อีกสกุลหนึ่ง คือ ‘ณ ราชสีมา’ และ ‘อินทรกำแหง ณ ราชสีมา’ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา ท่านผู้นี้มีประวัติแบบเดียวกันกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) คือว่ากันว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดพระราชทานเจ้าจอมยวน ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อยู่ในแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น)
นามสกุล ‘ณ ราชสีมา’ และ ‘อินทรกำแหง ณ ราชสีมา’ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ นี้


ที่มา http://www.sakulthai.com

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มหานคร (Mahanakorn) - Thaitanium (Feat. Da Endorphine)



                    Bangkok city..
ประกาศให้โลกได้รู้ โว้โอ.. ว่านี้นะคือกรุงเทพมหานคร อธิบายให้เขาเข้าใจ เย้เอ.. 
ว่านี้นะคือมหานครของคนไทย Bangkok city


โตแถวพหล11 เล่นอยู่แถวสะพานควายเรียนที่ว่าดี ขี่จักรยานแถวบ้านยาย 

แม่เคยพาไปเขาดินทุกๆวันเสาร์เย็นยกมือไหว้พระลูกจงนับถือท่านไว้นะลูก
ปลูกฝังความเป็นไทยไว้ในใจของเด็กน้อยพ่อผมน่ะรุ่น8ตอนที่จบจากนายร้อย
แต่ผมกับเป็นศิลปิน เต้นกิน รำกินอยู่ในกรุงเทพมหานครเมืองที่คนไม่หลับนอน
นี้คือเมืองที่ช้างเดินเมืองที่ตึกสูงละฟ้าเมืองที่คนต้องกลับมาเยือนถ้ามีโอกาสได้เข้ามา
เมืองที่คนนั้นมีน้ำใจถึงคุณไม่ใช่คนไทยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มันฝังอยู่ข้างใน
แล้วจะมีเหตุผลใดที่ให้ผมไม่ love this city พวกเรานะรวมใจถ้าเกิดอะไรใน this city
ผมนะภูมิใจเป็นคนไทยในthis city เกิดแก่เจ็บตายอยู่ในBangkok city !



ประกาศให้โลกได้รู้ โว้โอ.. ว่านี้นะคือกรุงเทพมหานคร อธิบายให้เขาเข้าใจ เย้เอ.. 
ว่านี้นะคือมหานครของคนไทย Bangkok city



มหานครเมืองแห่งสวรรค์ สยาม สาธร คือเมืองในฝันเมืองไทยเมืองยิ้มนั้นและคือคำขวัญ

เมืองเทพ เมืองทอง ฮ่ะ อัศจรรย์ ไม่มีใครมาแย่งรักเราจากมัน สีลมสวนลุมนั้นคือความผูกพันธ์
สยาม สามย่าน ที่เราเคยเจอกัน สุขุมวิทย์ ทองหล่อ that right you having fun
ลาดพร้าว รัชดา on tour แทบทุกวัน ข้าวสาร สนามหลวงคือใครก็ช่าง ธิปไตย
ราชดำเนินเมืองที่คนเดินถือธงชัย กรุเทพรัตนโกสินทร์นั้นอยู่ในใจ จะที่ไหน ถ้าจะไป ก็คิดถึง
แต่เมืองไทยรักคุณเท่าฟ้าไม่มีใครจะเทียบเท่า all day all night จะยืนขึ้นสรรเสริญ
that fight กรุงเทพมหานคร !



คงไม่มีมีที่ไหนที่เหมือนบ้านเรา ไม่มีดินแดงใดที่เหมือนของเรา ได้โปรดจงจำเอาไว้เถิด

จงภูมิใจที่ได้เกิดบนพื้นแผ่นดินนี้ อยู่ตรงนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระองค์ ..

ประกาศให้โลกได้รู้ โว้โอ.. ว่านี้นะคือกรุงเทพมหานคร อธิบายให้เขาเข้าใจ เย้เอ.. ว่านี้นะคือมหานคร
ของคนไทย Bangkok city


8โมงเช้า6โมงเย็น where every thing stop ! stay it begin in Bangkok city this city on your mine

รอยยิ้มของคนไทยแล้วคำว่าเกรงใจ ever late in to life RCA ทองหล่อ เอกมัย where you can you joy in night life
I'm fully his 24 ชั่วโมง to plan on your life เข้ามาเปิดประตูน้ำ go and get you เอาไป
มวยไทย call and crash of you life ลุมพินี ราชดำเนิน สถานที่ที่คุณบอกให้มอเตอร์ไซค์หรือแท๊กซี่ให้ไป
เที่ยวประเทศไทย เที่ยวให้สนุกและให้สบายใจ มหานครของเรา ที่พึ่งของเราไม่ได้เกิดแต่ที่ตายของเรา 
I'm represent for my city.I'm call of my city.Put it up for my city now! let's go



ประกาศให้โลกได้รู้ โว้โอ.. ว่านี้นะคือกรุงเทพมหานคร อธิบายให้เขาเข้าใจ เย้เอ.. 
ว่านี้นะคือมหานครของคนไทย Bangkok city

คงไม่มีที่ไหนที่เหมือนบ้านเรา ไม่มีดินแดนใด Bangkok city