วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 โดยมีพิธีเปิดและแพร่สัญญาณ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ราวเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และราว พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้นทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด



         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 หรือ TTV (อังกฤษ: Thai Television Channel 4 ชื่อย่อ: ไทย ที.วี.) นับว่าเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม
         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดเห็นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และบรรดาข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ว่าต้องการที่จะให้ประเทศไทย มีการส่งโทรทัศน์ในประเทศขึ้น โดยมีข้าราชการของกรมฯรายหนึ่งคือ นายสรรพสิริ วิริยศิริ ข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ได้เขียนบทความลงในหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เผยแพร่เทคโนโลยีการสื่อสารชนิดใหม่ในขณะนั้น โดยเขียนชื่อหนังสือว่า วิทยุภาพ ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมา กลุ่มข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ไปศึกษางานด้านโทรทัศน์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2493 หลังจากกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ได้แสดงความคิดเห็นกับรัฐบาลเรื่องการจัดตั้งกิจการโทรทัศน์ไว้ว่า "ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมี TELEVISION" ผู้นำรัฐบาลจึงได้ให้ กรมประชาสัมพันธ์ จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ ต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2493 และต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและตั้งงบประมาณขึ้น ในปี พ.ศ. 2494 และในระหว่างเดือนกันยายน - พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เหล่าข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์รวมไปถึงบุคคลในคณะรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ได้จัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทย
         คณะผู้ก่อตั้งบริษัท มีอยู่ 7 คน ประกอบไปด้วย หลวงสารานุประพันธ์ , ขาบ กุญชร , ประสงค์ หงสนันทน์, เผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และ เลื่อน พงษ์โสภณ ก่อนการจัดตั้งบริษัทฯนั้น ได้มีการระดมทุนจาก กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 11 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐแห่งอีก จำนวน 8 แห่ง ถือหุ้นมูลค่า 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท
คณะผู้ปฏิบัติงานในยุคแรก ได้แก่
• นายจำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ
• นายอัมพร พจนพิสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายกำกับภาพ
• นายสมชาย มาลาเจริญ หัวหน้าฝ่ายช่างกล้อง
• นายธนะ นาคพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายควบคุมการออกอากาศ
• นายเกรียงไกร (สนั่น) ชีวะปรีชา หัวหน้าฝ่ายเครื่องส่ง
• นายธำรง วรสูตร และ นายฟู ชมชื่น หัวหน้าร่วม ฝ่ายเครื่องส่ง และ เสาอากาศ
• นายจ้าน ตัณฑโกศัย หัวหน้าฝ่ายกำกับเสียง
• นายสรรพสิริ วิริยศิริ หัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง และ หัวหน้าฝ่ายข่าว
• นายรักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช หัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องรับโทรทัศน์
        เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี เมื่ออาคารดังกล่าวสร้างเสร็จ และติดตั้งเครื่องส่งแล้ว จึงมีพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 เมื่อวันศุกร์ที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นวันชาติในสมัยนั้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ในช่วงแรกมีการแพร่ภาพออกอากาศในวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 18.30-23.00 น. ต่อมา จึงได้เพิ่มวันและเวลาออกอากาศมากขึ้นตามลำดับ โดยใช้เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที
 
เสาส่งช่อง 4 บางขุนพรหม

         เพลงเปิดการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลงต้นบรเทศ (ซึ่งปัจจุบันเป็นเพลง ต้นวรเชรฐ์ )ในวันออกอากาศวันแรก ได้ให้นางสาวอารีย์ นักดนตรี ผู้ประกาศ รำบรเทศออกอากาศสด ส่วนนางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ทำหน้าที่ผู้ประกาศแจ้งรายการ โดยผู้ประกาศในยุคแรกเป็นสตรี ได้แก่ นางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (ปัจจุบันคือ นางเย็นจิตต์ รพีพัฒน์ ณ อยุธยา), นางสาวอารีย์ นักดนตรี (ปัจจุบันคือ นางอารีย์ จันทร์เกษม), นางสาวดาเรศร์ ศาตะจันทร์, นางสาวนวลละออ ทองเนื้อดี (ปัจจุบันคือ นางนวลละออ เศวตโสภณ), นางสาวชะนะ สาตราภัย และ นางสาวประไพพัฒน์ นิรัตพันธ์ ส่วนผู้ประกาศข่าวเป็นชาย ได้แก่ นายสรรพสิริ วิรยศิริ, นายสมชาย มาลาเจริญ, นายอาคม มกรานนท์ และ นายบรรจบ จันทิมางกูร
ในช่วงจัดตั้งสถานี และ บริษัทฯนั้น รัฐบาลก็ได้พบอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากรัฐบาลไทยและกรมประชาสัมพันธ์ ถูกหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น เสียงกลุ่มคนในสภาผู้แทนราษฎร บางส่วนของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านได้โจมตีอย่างแรงอันเนื่องมาจากการจัดตั้งโทรทัศน์ โดยให้สาเหตุเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน แต่ก็สามารถรอดพ้นออกมาได้ หลังจากนั้น ก่อนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ บริษัทฯ ได้จัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เสียก่อน เพื่อระดมเงินทุนมาบริหารงานโทรทัศน์ และฝึกบุคลากรในบริษัทฯ พร้อมกับเตรียมงานด้านอื่นอีกด้วย และด้วยความที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ออกอากาศการเผยแพร่ผลงาน,การปราศรัยหาเสียงของรัฐบาล การประชุมสภา จนกระทั่ง การถ่ายทอดสด งานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. 2500 ทางโทรทัศน์เป็นฝ่ายเดียวนั้น ส่งผลทำให้สาเหตุดังกล่าว ที่ทำให้เกิดคู่แข่ง ระหว่างภาครัฐและภาคทหาร จึงทำให้กองทัพบก โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จัดตั้ง สถานีแห่งที่ 2 คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในระหว่างปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2501
         สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร
         เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บจก.ไทยโทรทัศน์ ส่งผลให้การดำเนินงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2520 โดยให้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท.; M.C.O.T.) ให้เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือ ต่อสาธารณชน โดยรัฐบาลไทย มอบทุนประเดิมไว้ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท และให้รับโอนกิจการสื่อสารมวลชน ของ บจก.ไทยโทรทัศน์ ซึ่งประกอบด้วย สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. ทำให้สถานีโทรทัศน์เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยอัตโนมัติ


ที่มา : 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น