วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กบฎ ในประเทศไทย

กบฏในประเทศไทย เกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง โดยตามกฎหมายไทย กบฏเป็นความผิดอาญา ฐานกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ หรืออำนาจอธิปไตยทั้งสาม หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครอง ในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ถ้าการกระทำทั้งหมดนี้สำเร็จจะเรียกว่าการ ปฏิวัติ/รัฐประหาร ถ้าไม่สำเร็จจะเรียกว่า กบฎ  ความผิดฐานเป็นกบฏ หรือ ขบถ และกำหนดโทษสำหรับผู้ก่อการกบฏ ให้ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามมีผู้ได้รับโทษทัณฑ์ในข้อหากบฎในราชอาณาจักรน้อยมาก ส่วนมากจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่น กบฏ ร.ศ. 130 รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาล หรือหลบหนีไปนอกราชอาณาจักร เช่น กบฏวังหลวง กรณีที่มีผู้รับโทษประหารชีวิตได้แก่ กบฏ 26 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้ทหารทำการรัฐประหารรัฐบาล ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียรในเวลาต่อมา




ครั้งที่กบฎ ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) โดย คณะ ร.ศ.130

- เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 20 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ 91 คน คณะตุลาการศาลทหารมีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยให้ประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน คน คือ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 20 คน จำคุกยี่สิบปี 32 คน จำคุกสิบห้าปี คน จำคุกสิบสองปี30 คน  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์
 ครั้งที่กบฎบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ.2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาจากผู้เสียประโยชน์ว่าเป็น "คอมมูนิสต์และชนวนสำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" โดยในที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาได้หนีไปยังประเทศกัมพูชา 
อนุสาวรีย์บริเวณหลักสี่ บางเขน กรุงเทพมหานคร ที่เรียกกันว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" นั้น ชื่อจริงคือ "อนุสาวรีย์ปราบกบฎ" หรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช

หลังจากปราบกบฏได้สำเร็จ ต่อมาวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 (แท้จริงแล้วคือ พ.ศ. 2477 เพราะในขณะนั้นยังถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่) รัชกาลที่ 7 กับพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีก็เสด็จราชดำเนินออกนอกประเทศเพื่อไปรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ และทรงพำนักยังประเทศอังกฤษโดยตลอดจนกระทั่งเสด็จสวรรคต โดยมิได้ทรงนิวัติกลับประเทศไทยอีกเลย
ครั้งที่กบฎนายสิบ (สิงหาคม พ.ศ.2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เป็นหัวหน้า
เป็นแผนที่จะเกิดขึ้นในเวลา 03.00 น. วันที่ สิงหาคม พ.ศ. 2478 เมื่อนายทหารชั้นประทวนในกองพันต่าง ๆ นำโดย สิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด ได้รวมตัวกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยหมายจะสังหารนายทหารคนสำคัญในกองทัพบกหลายคน โดยเฉพาะหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ให้จับตายเท่านั้น เมื่อลงมือจริง สามารถจับพระยาพหลพลพยุหเสนา และ พันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพลป. พิบูลสงคราม - ยศในขณะนั้น) เป็นตัวประกันไว้ได้ แต่รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ในวันที่ สิงหาคม พ.ศ. 2478 เวลา12.00 น. ต่อมาได้มีการตั้งศาลพิเศษชำระคดี หัวหน้าฝ่ายกบฏ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยศาลนี้ไม่มีทนาย ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา และยังสามารถตั้งผู้พิพากษาได้ตามใจอีกต่างหาก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาที่ผ่านคดีต่าง ๆ มาแล้วอย่างมากเช่นศาลคดีตามปกติ
 ครั้งที่กบฎพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฎ 18 ศพ (29 มกราคม พ.ศ.2482) โดย พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
- เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 เนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง หลวงพิบูลสงคราม กับพระยาทรงสุรเดช ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การสนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เหตุการณ์ครั้งกบฏบวรเดช และเหตุการณ์พยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามติดต่อกันหลายครั้ง (ลอบยิง ครั้ง วางยาพิษ ครั้ง)
เมื่อหลวงพิบูลสงคราม ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พระยาทรงสุรเดช ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้มีคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ทส. ประจำตัว
 - นักโทษการเมืองหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางโดยนักโทษประหารชีวิต ถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ 4 คน จนครบจำนวน 18 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ กบฏ 18 ศพ จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ถูกลงโทษทั้งหมด มีผู้ใดกระทำผิดจริงหรือไม่ เพราะถูกตัดสินโดยศาลพิเศษ ที่บรรดาผู้พิพากษาคือผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง และไม่มีทนายจำเลยตามหลักยุติธรรม กบฏพระยาทรงสุรเดช คือการกบฎที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นทั้งๆที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร นอกจากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเกิดกับหลวงพิบูลสงคราม3ครั้งดังกล่าวข้างต้น จึงมีความชัดเจนว่าอุบัติการนี้สร้างขึ้นเพื่อหาเรื่องกำจัดบุคคลที่หลวงพิบูลสงครามเห็นว่าน่าจะเป็นศัตรูของตนเท่านั้น

นักโทษการเมืองที่เหลือได้รับอภัยโทษ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากหลวงพิบูลสงครามที่หมดอำนาจลงก่อนจะสื้นสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนพระยาทรงสุรเดชถึงแก่กรรมอย่างยากไร้ในเขมร


ครั้งที่กบฎเสนาธิการ (ตุลาคม พ.ศ.2491) โดย พลตรีหลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้า
 เมื่อนายทหารระดับเสนาธิการของกองทัพ เช่น พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้ ผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ครั้งนี้มีอดีตรัฐมนตรีสมัย นายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลายคน
กบฏครั้งนี้ เกิดหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประมาณหนึ่งปี และหลังจากกบฏเสนาธิการไม่ถึงหนึ่งปี ก็เกิดกบฏซ้ำอีกครั้ง คือ กบฏวังหลวง เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492และหลังจากนั้นอีกครั้ง คือ กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494. ความพยายามยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประสบผลสำเร็จในที่สุด ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารทำการโค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
 ครั้งที่กบฎแบ่งแยกดินแดน (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491)
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ได้มีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่ารวมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิคุ้มครองทางการเมือง
ที่สุดกรมตำรวจ จึงใช้วิธีใช้อำนาจและเล่ห์เหลี่ยมในการจับกุม 4 อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน ประกอบด้วย จำลอง ดาวเรือง ถวิล อุดล ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองในสังกัดของนายปรีดี พนมยงค์ และเตียง ศิริขันธ์
จากนั้นจึงนำไปยิงทิ้ง เมื่อเวลา 03:00 คืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 ที่ถนนพหลโยธิน ก.ม.ที่ 11 บริเวณบางเขน (ใกล้แยกรัชโยธิน) โดยทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยบนรถขนนักโทษของตำรวจ แต่ทางตำรวจแถลงว่าเกิดจากการปะทะกับโจรมลายูที่จะมาชิงตัวนักโทษ ซึ่งไม่มีใครเชื่อถือ
 ครั้งที่7 กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492) โดย ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า
เกิดขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ (จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏในครั้งนี้) ในเวลาประมาณ 16.00 น. และเมื่อเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย โดยนายปรีดีได้ปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้
ซึ่งความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนแล้ว เพราะ จอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงก่อนถึง 3 วันเกิดเหตุ
ในระยะแรก ฝ่ายกบฏดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว
จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 สาทร เป็นต้น มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ
พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่27 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พล.ต.ต. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
 ครั้งที่8 กบฎแมนฮัตตัน (29 มิถนายน พ.ศ.2494) โดย นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา และ นาวาตรีมนัส จารุภา
เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง นำโดย น.ต.มนัส จารุภา รน. ทำการกบฏจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ แมนฮัตตัน ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยนำไปกักขังไว้ในเรือหลวงชื่อ "ศรีอยุธยา" ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา
หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ. อานนท์ บุญฑริกธาดา รน. สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระนคร และประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม กระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรีจากในเรือ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ได้กระจายเสียงตอบโต้ไปโดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.) โดยได้ให้นายวรการบัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีแทน และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม) จึงเกิดการต่อสู้ยิงกันอย่างหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ มีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินแบบ Spirt fire และ T6 ใส่เรือหลวงศรีอยุธยาที่อยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เรือก็จม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกทหารเรือที่อยู่บนเรือนำว่ายน้ำหลบหนีออกมาได้ โดยการกบฏครั้งนี้นับว่าเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ภายหลังเหตุการณ์ผู้ก่อการได้แยกย้ายกันหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์
เหตุการณ์สิ้นสุดลงด้วยการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ในส่วนของกองทัพเรือ แม้ทหารที่ก่อการจะไม่ใช่ทหารระดับสูงและทหารเรือส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย กระนั้น ต่อมา พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือก็ยังต้องโทษตัดสินจำคุกนานถึง 3 ปี โดยที่ไม่มีความผิด และได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของ สวนลุมไนท์บาซ่าร์นั่นเอง
 ครั้งที่9 กบฎสันติภาพ (8 พฤศจิกายน พ.ศ.2497)

เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ในการจับกึมครั้งนี้ กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ได้จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..." จากนั้นยังได้ทะยอยจับกุมประชาชนเพิ่มเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ. 2496 ก็ยังมีข่าวว่าได้จับกุมและสึกพระภิกษุที่เคยสนับสนุนและเผยแพร่สันติภาพอีก
          คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ในปี พ.ศ. 2500
 ครั้งที่10 กบฎ พ.ศ.2507 (1 ธันวาคม พ.ศ.2507) โดย พลอากาศเอกนักรบ บิณศรี เป็นหัวหน้า
- กบฏ พ.ศ. 2507 การก่อการกบฏในประเทศไทย ที่มักไม่ค่อยมีการบันทึกไว้ ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมผู้ก่อการกบฏทั้งหมด 10 คน โดยมากเป็น ทหารอากาศ มี ทหารเรือ และ ตำรวจ เข้าร่วมด้วย โดยทราบเรื่องว่าจะก่อการกบฏในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2507 ซึ่งผู้ก่อการกบฏ อาทิ เช่น พล.อ.อ.นักรบ บิณศรี อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า, พล.อ.ต.ละเอิบ ปิ่นสุวรรณ, พล.อ.ต.เอกชัย มุสิกบุตร, พ.ท.บุญพฤกษ์ จาฏามระ พ.ท.สุดใจ อังคณานุรักษ์, ร.อ. นรชัย จาฏามระ

ซึ่งศาลทหารได้ตัดสินจำคุกทั้งหมด 3 ปี 3 คน ได้แก่ พ.ท.บุญพฤกษ์ จาฏามระ, พ.ท.สุดใจ อังคณานุรักษ์ และ ร.อ.นรชัย จาฏามระ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
ครั้งที่11 กบฎ 26 มีนาคม 2520 (26 มีนาคม พ.ศ.2520) โดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ เป็นหัวหน้า
พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้
ครั้งที่12 กบฎยังเติร์ก หรือ กบฎเมษาฮาวาย (1-3 เมษายน พ.ศ.2524) โดย  พันเอกมนูญ รูปขจร มีพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้า
กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย เป็นการก่อกบฏเมื่อวันที่ 1 เมษายน - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือที่เรียกว่ารุ่น ยังเติร์ก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
  คณะผู้ก่อการได้เริ่มก่อการเมื่อเวลา 2.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ มีใจความว่า
"เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน"
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์ ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือเป็นวันที่ผู้คนโกหกใส่กันได้ จึงได้อีกชื่อนึงในเชิงเหยียดหยันจากสื่อมวลชนว่า กบฏเมษาฮาวาย
ครั้งที่13 กบฎทหารนอกราชการ (9 กันยายน พ.ศ.2528) โดย พันเอกมนูญ รูปขจร มีพลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้า

เป็นการก่อกบฏเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฎครั้งนี้พยายามจะยึดอำนาจการปกครองที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 3.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
ในส่วนของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่ง และผู้นำสหภาพแรงงาน เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย
ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วยพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ. พลโทชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พลโทสุจินดา คราประยูร พลโทอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโทเกษตร โรจนนิล
เมื่อเวลาประมาณ 9.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏ ที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน
ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดยพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.
ส่วนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในคืนนั้น
เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน
มีข่าวลือเกี่ยวกับการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า พันเอกมนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึด เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจที่จะนำกำลังออกมาสมทบในภายหลัง และการกบฏครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจาก "นัดแล้วไม่มา"
ที่มา
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เรียกต่างกันไปอีกเช่น กบฏหวันหมาดหลี เป็นเหตุการณ์กบฏที่เกิดที่หัวเมืองปักษ์ใต้ รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 กบฏดุซงญอ เป็นเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับกลุ่มชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


กบฏหวันหมาดหลี (พ.ศ. 2380)

กบฏหวันหมาดหลี เป็นเหตุการณ์กบฏที่เกิดที่หัวเมืองปักษ์ใต้ รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 เมื่อปีระกา นพศก จ.ศ. 1199 (พ.ศ. 2380) กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย สมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต มีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพในต้นปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ. 1200 (พ.ศ. 2381) บรรดาผู้ว่าราชการในหัวเมืองต่าง ๆ ได้เดินทางเข้ามาร่วมงานพระราชพิธีในพระนครกันเกือบหมด จึงไม่มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ดูแล
ตนกูมะหะหมัด สะอัด และ ตนกูอับดุลเลาะห์ เชื้อพระวงค์แห่งมลายูได้คบคิดกับหวันหมาดหลี ซึ่งเป็นโจรสลัดอันดามันได้ยกกำลังเข้าจู่โจมเมืองไทรบุรีฝ่ายไทยที่ดูแลเมืองไทรบุรีไม่อาจรับมือได้ จึงถอยร่นแตกทัพมาที่เมืองพัทลุง กบฏจึงได้ใจบุกต่อเข้าไปตีเมืองตรังและสามารถยึดครองเมืองไว้ได้ จากนั้นจึงปล่อยให้หวันหมาดหลีรักษาเมืองไว้โดยลำพัง กองกำลังส่วนใหญ่ได้เดินบกจากตรังข้ามไปพัทลุงและสงขลา ตีสงขลาแล้วเกลี่ยกล่อมเจ้าเมืองที่เป็นมุสลิมด้วยกันอีก 7 หัวเมืองให้ร่วมมือกันก่อการกบฏ
ทางพระนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวก็พิโรธ มีพระบรมราชโองการสั่งให้เจ้าเมืองต่าง ๆ เร่งกลับไปป้องกันดูแลเมืองของตนเอง และทรงวิตกว่า การที่กบฏสามารถประชิดสงขลาได้แล้วจะเป็นเหตุให้มุสลิมทางหัวเมืองหน้าในแถบทะเลอ่าวไทยคิดการกบฏขึ้นมาด้วย จึงโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่ทัพใหญ่ลงไปปราบ ในส่วนของเมืองตรัง เจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองตรัง กลับมาถึงก็ระดมกำลังทหารตั้งค่ายอยู่ที่ ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง (ในปัจจุบัน) เพื่อเตรียมยกโอบไปตีหวันหมาดหลีซึ่งยึดชัยภูมิอยู่ที่ควนธานี โดยส่งกองกำลังลำเลียงไปทางคลองลำเลียง เมื่อหวันหมาดหลีทราบข่าวว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) ยกทัพมา ประกอบกับรับรู้ถึงกิตติศัพท์การออกทัพจับศึกของเจ้าพระยานคร (น้อย) ว่าเก่งกาจ จึงถอยร่นหนีไป
หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการสืบสวน พบว่ามีข้าราชการและขุนนางจำนวนหนึ่งที่เข้าพวกกบฏ มีการลงโทษต่าง ๆ รวมถึงการประหารชีวิตด้วย

กบฏดุซงญอ (พ.ศ. 2491)

กบฏดุซงญอ (มลายูปัตตานี: ปือแร ดุซงญอ แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้"หรือ "สงครามดุซงญอ") เป็นเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับกลุ่มชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ระหว่าง 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่ ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งสองฝ่าย หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป มีการสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนเพื่อรำลึกถีงเหตุการณ์นี้ แต่อนุสาวรีย์นี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
เหตุการณ์กบฏนี้ ได้มีผู้กล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ กรณีกรือเซะ 2547 ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 จนมีผู้เสียชีวิต 108 ศพ ซึ่งวันนั้นเป็นวันครบรอบ 56 ปี เหตุการณ์กบฏดุซงญอ
เกิดจาก ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอ คำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น